วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วัยรุ่นไทยสมัยนี้ ทำไม ดุ (จัง) ?!!


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

         "...มึงอยากลองดีใช่มั้ย"
          ...&@#%+$#&@%%&$#... (
คงพอเดากันออกนะคะ)

         เสียงแตกเนื้อหนุ่มที่แว่วอยู่อีกฝั่งถนนอย่างฟังไม่ได้ศัพท์ แต่จากภาพที่มองผ่านกระจกมองข้างทำให้พอสรุปได้ว่า เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างหนุ่มรุ่นกระทงนับจำนวนได้ 7 นายยังไม่ยุติ ซึ่งต้นเหตุของความบาดหมางคืออะไรก็ไม่สามารถรู้ได้

วัยรุ่นไทย...ทำไมถึง "ดุ" อย่างนี้นะ ---?!!

         หากย้อนไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การก่อความรุนแรงชนิด "เอากันถึงตาย" ของ "วัยเลือดร้อน" ยังปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น พบว่ามีด้วยกัน 5 ลักษณะ คือ การก่อความรำคาญทั่วไป เช่น แก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง การปล้นทรัพย์ การทำลายทรัพย์สินราชการ การทำร้ายร่างกายผู้อื่น และการรุมโทรม

         อย่างไรก็ดี ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่นักวิชาการชี้ว่าเป็นปรากฏการณ์เฉพาะของวัยรุ่นไทย ก็คือการ"ยกพวกตีกัน" อีกทั้งข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า "นักเรียนยกพวกตีกันมีเฉพาะเด็กไทยชาติเดียว" (ควรภูมิใจไหมเนี่ย!!) 

         ขณะที่สติถิเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทำร้ายชีวิตและร่างกายของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นถึง 27.8% ... นี่คือสัญญาณอันตรายที่สังคมต้องลงมือแก้ปัญหาโดยด่วน!!

อาจารย์อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า สามารถแบ่งสาเหตุความรุนแรงในวัยรุ่นได้ 3 ประการ คือ

         1. เกิดจากภาวะ "ศักดิ์ศรีบกพร่อง" จึงทำให้วัยรุ่นอยากอวดศักดิ์ดาด้วยการแสดงถ้อยคำและพฤติกรรมรุนแรง ตลอดจนการแย่งผู้หญิง

         2. เกิดจากการดื่มสุราและเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอย่างดีเยี่ยม โดยปัจจุบันมีเด็กมัธยม อาชีวะ และมหาวิทยาลัยดื่มสุราเป็นครั้งคราวสูงถึง 30%

         3. การพนัน อาทิ พนันบอล ซึ่งจากการสำรวจวัยรุ่นเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดใดที่มีสัดส่วนวัยรุ่นเล่นเกมการพนันมาก ก็จะมีสัดส่วนของความรุนแรง อาทิ ทำร้ายร่างกาย สูงตามไปด้วย

ประเด็นที่น่าสังเกตคือ การก่อความรุนแรงโดยวัยรุ่นมักเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมกลุ่ม หรือ "ตั้งแก๊ง"

         ขณะที่ กิตติพันธ์ กันจินะ นักพัฒนาเอกชน ศูนย์เพื่อน้องหญิง ระบุถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นรวมกลุ่มกันคือ ความต้องการพบเพื่อนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน อาทิ แว้นบอย-สก๊อยเกิร์ล รวมถึงเป็นเพราะมีปัญหาครอบครัวแตกแยก การไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมและถูกตีตราว่าเป็นอันธพาล

         อีกสาเหตุหนึ่งที่เชื่อเลยว่าสังคมคงปฏิเสธไม่ได้ว่า "สื่อต่างๆ" เป็นปัจจัยสำคัญที่ชักนำวัยรุ่นเข้าสู่หลุมดำของความรุนแรง ซึ่งผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ระบุถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ความรุนแรงในวัยรุ่น 7 อันดับ ได้แก่ ภาพยนตร์ การชักจูงและสนับสนุนจากเพื่อน ข่าวความรุนแรงที่เสนอตามสื่อ เกมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต รายการโทรทัศน์ นิยาย หรือการ์ตูนแนวก้าวร้าว

...ถามว่า ทำไมสื่อจึงมีอิทธิพลสูง

         สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำตอบว่า สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์เป็นชนวนเหตุสำคัญ ที่นิยมนำเสนอการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหานับเป็นตัวกระตุ้นให้วัยรุ่น ซึ่งยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อยเกิดการซึมซับและเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว

ต่อไปนี้เป็นทางออกที่น่าสนใจในการช่วยการแก้ปัญหาวัยรุ่นเลือดร้อน        

        รัฐและผู้กำหนดนโยบายควรแยกแยะประเภทสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ เพื่อยับยั้งไม่ให้เด็กและวัยรุ่นได้ชมภาพยนตร์ที่รุนแรง

        สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา มีกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงนอกเวลาเรียน เช่น การทำงานหารายได้พิเศษ การเล่นดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

        ควรสนับสนุนการสอดแทรกสุนทรียรสเข้าสู่สื่อดนตรีที่ผลิตเพื่อวัยรุ่น แทนที่เพลงก้าวร้าว รุนแรง เพราะยามเกิดปัญหากดดันคับข้องใจ วัยรุ่นชายมักเลือกหาทางออกโดยใช้เพลงเป็นเครื่องผ่อนคลาย

        เพื่อนเป็นปัจจัยที่ทรงอำนาจ ดังนั้น ควรมีการสร้างและพัฒนากลุ่มเพื่อนที่มีคุณภาพ เพื่อให้วัยรุ่นมีช่องทางคบหาสมาคมกับเพื่อนที่จะช่วยนำพาชีวิตไปในทางสร้างสรรค์ 

         หากกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้มีโอกาสเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีพอ และมีการสนับสนุนให้ได้รับการพัฒนาตนเอง และมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง พวกเขาคงไม่ดิ้นรนค้นหาเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจแบบ "หลงทาง" อย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ 



ที่มา : http://hilight.kapook.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น