วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กินอาหารกล่องโฟม อันตราย


"คนที่รับประทานอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า" เป็นข้อมูลที่มนุษย์เดินดินกินข้าวแกงอาจยังไม่เคยรู้
ภาชนะโฟม ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ กล่องข้าว แก้วน้ำ ถ้วยกาแฟ และถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร ที่เรารับประทานกันเป็นประจำนั้น มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ภาชนะโฟมบางประเภทจะมีคำเตือนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ไม่ควรนำมาใส่อาหารหรือไม่ควรนำมาใส่ของร้อน" ส่วนถุงพลาสติกที่ใช้กันดาษดื่นตามท้องตลาดซึ่งมีมากมายหลายประเภท และแต่ละประเภทจะมีคุณลักษณะการใช้ที่แตกต่างกัน หากนำถุงพลาสติกมาใช้ผิดประเภทอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยมีผลทางการแพทย์พบว่า ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ส่วนประกอบของภาชนะโฟมมีสารพิษที่เป็นอันตราย  ยิ่งรับประทานก็ยิ่งมีสารพิษสะสมในร่างกาย ดังนั้น ในทุกปีโดยเฉพาะผู้ชายที่รับประทานเข้าไปมากๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งสองเพศมีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งตับ และยังทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อมง่าย หงุดหงิดง่าย ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยเฉพาะบางร้านที่ใช้ถุงพลาสติกรองกล่องโฟมด้วย จะทำไห้ได้รับสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น 2 เท่า ถ้าถุงที่ใช้นั้นผิดประเภท หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในภาชนะโฟม ลูกมีโอกาสสมองเสื่อม อวัยวะบางส่วนพิการ  และคนทั่วไปถ้ารับประทานอาหารบรรจุภาชนะโฟมทุกวัน อย่างน้อยวันละมื้อ ติดต่อกัน 10 ปี ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า
การใช้ภาชนะโฟมที่ไม่เหมาะสม เช่น นำชามโฟมไปใส่ก๋วยเตี๋ยวที่ร้อนจัด หรือนำไปใส่อาหารที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ ๆ สารสไตรีนที่เป็นองค์ประกอบในภาชนะโฟมซึ่งจะละลายตัวได้ดีในน้ำมัน ก็จะผสมปนเปกับอาหารได้ง่าย หรือแม้กระทั่งมีการนำอาหารในกล่องโฟมไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ กฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานและการแสดงฉลากของกล่องโฟมมี 3 ฉบับคือ 1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งได้กำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด 2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4225 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับ อาหาร ตามมาตรฐานเลขที่ มอก.655 เล่ม 1-2553 โดยได้กำหนดประเภทภาชนะพลาสติกที่ทนความร้อน ธรรมดา ทนความเย็น และกำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด และ 3. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงคำเตือน "ห้ามใช้บรรจุของร้อน" และ "ไม่ควรใช้บรรจุอาหารที่กำลังร้อนจัด โดยเฉพาะอาหารทอดด้วยน้ำมัน" สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทนความร้อนได้ไม่เกิน 95 องศาเซลเซียส
"แม้จะมีกฎหมายที่ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารอย่างถูกสุขลักษณะได้ สคบ.แนะนำให้ผู้บริโภคตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ภาชนะโฟมเหล่านี้"
เลขาธิการ สคบ. บอกว่า ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารที่ใส่ในภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันมีผลิตออกมาอย่างแพร่หลาย ด้วยราคาที่จับต้องได้ หรือภาชนะไบโอ ซึ่งสามารถทนต่ออาหารที่มีอุณหภูมิสูง ๆ ได้ ปลอดสารก่อมะเร็ง และไม่มีผลกระทบต่อระบบประสาทและระบบฮอร์โมน นอกจากนั้นยังสามารย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน และยังเป็นการลดโลกร้อนได้ด้วย หรือจะใช้ปิ่นโตแทนจะดีที่สุด

หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้า สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ผ่านช่องทางสายด่วน สคบ.1166 หรือทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น